“ครีมกันแดด” ถือเป็นอีกตัวช่วยสำคัญในการปกป้องผิวจากรังสียูวี โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีสภาพอากาศร้อนจัด แสงแดดส่องตลอดทั้งวัน ดังนั้นหากรู้วิธีในการเลือกครีมกันแดดอย่างถูกต้อง ย่อมทำให้ผิวของคุณมีสุขภาพดี บอกลาความหมองคล้ำ ริ้วรอยก่อนวัย ฝ้า กระ จุดด่างดำ ไปจนถึงลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังได้อีกด้วย
การเลือกครีมกันแดดที่ดีต้องรู้จักประเภทของครีมกันแดด
1. ประเภทครีมกันแดดแบ่งตามลักษณะทางเคมี (Chemical Sunscreen)
ครีมกันแดดประเภทนี้จะมีจุดเด่นในเรื่องการดูดซับรังสียูวี ช่วยปกป้องผิวพรรณได้ดี ทว่าก็อาจสุ่มเสี่ยงต่ออาการแพ้ของร่างกายสำหรับคนผิวบอบบาง หรือผิวไวต่อสารเคมีบางชนิดที่ออกฤทธิ์ระหว่างใช้ เช่น กลุ่มสารป้องกันรังสี UVA จำพวก Oxybenzone, Dioxybenzone, Avobenzone, Merxorylsx และกลุ่มสารป้องกันรังสี UVB อาทิ PABA, Octyl Methoxycinnamate, Octyl Salicylate
2. ประเภทครีมกันแดดแบ่งตามลักษณะทางกายภาพ (Physical Sunscreen)
จะใช้คุณสมบัติทางฟิสิกส์โดยประเมินจากการออกฤทธิ์ของสารต่าง ๆ ในการป้องกันและสะท้อนรังสี UVA และ UVB ด้วยอนุภาคของตนเอง แม้คุณภาพในการป้องกันอาจน้อยกว่าแบบแรกแต่ก็มีคุณสมบัติเด่นในเรื่องของการเป็นมิตรกับผิว ไม่ค่อยเจออาการแพ้ต่อผิวหนัง ซึ่งสารในครีมกันแดดที่แบ่งตามลักษณะทางกายภาพที่พบเห็นได้บ่อย อาทิ ไททาเนียมไดออกไซด์ (Titanium Dioxide), สังกะสี หรือซิงค์ออกไซด์ (Zinc Oxide) บรรดาสาว ๆ ที่ชอบความสวย หรือต้องทำงานกลุ่มพริตตี้ นางแบบมักนิยมใช้กัน เพราะเวลาทาลงไปแล้วนอกจากป้องกันรังสียูวียังช่วยเรื่องการเกิดออร่า ผิวสะท้อนแสง แต่ก็ต้องระวังเรื่องการอุดตันของรูขุมขนจนเกิดสิวได้หากใช้วิธีทาครีมกันแดดทาในปริมาณมากเกินไป รวมถึงเวลาผิวสัมผัสกับเบาะรถหรือผิวสัมผัสต่าง ๆ ก็อาจเป็นคราบง่าย
3. ประเภทครีมกันแดดแบ่งตามลักษณะผสมผสาน (Chemical-Physical Sunscreen)
อธิบายแบบเข้าใจง่ายก็คือการนำเอาลักษณะของ 2 ประเภทแรกมารวมกัน และมักวางขายในท้องตลาด สังเกตชัดเจนคือผลิตภัณฑ์ที่จะบอกว่า SPF (Sun Protection Factor) เป็นการระบุค่าป้องกันรังสี UVB ได้ทั้งหมดกี่เท่า เป็นการบอกระยะเวลาในการช่วยปกป้องผิวก่อนที่แสงแดดจะเริ่มทำให้ผิวรู้สึกแดง ร้อน ยิ่งค่า SPF สูง ก็หมายถึงช่วยปกป้องได้ยาวนาน เช่น SPF 50 เท่ากับ ปกป้องได้นาน 50 เท่า ซึ่งปกติผิวของคนเราหากโดนรังสียูวีเกิน 15 นาที ก็มักเริ่มแสบร้อน แดง วิธีคำนวณจึงเป็น 15 x 50 = 750 นาที และ PA (Protection Grade of UVA) เป็นการบอกค่าป้องกันรังสี UVA มีระดับตั้งแต่ +, ++ และ +++ หมายถึง ป้องกันได้ในระดับน้อย ปานกลาง และมาก ซึ่งปกติแล้วควรเลือกใช้ตั้งแต่ระดับ ++ ขึ้นไป
ค่าป้องกันแสงแดด หรือ SPF และ PA คืออะไร
ตามที่ได้อธิบายเอาไว้ตอนต้นว่า ค่า SPF หรือ Sun Protection Factor คือ การระบุค่าในการป้องกันรังสี UVB ว่าสามารถป้องกันไม่ให้ผิวหนังเกิดการแสบร้อน แดง หรือไหม้ ได้ยาวนานมากแค่ไหน หรือเป็นกี่เท่าจากเวลาปกติ ซึ่งอยู่ที่ 15 นาที นั่นเท่ากับยิ่งค่า SPF สูง ก็ช่วยปกป้องได้ยาวนาน (แต่ไม่ได้หมายถึง SPF ต่ำ แล้วคุณภาพของผลิตภัณฑ์จะต่ำ) โดยสามารถแยกประเภทของค่าและอัตราการป้องกันได้ดังนี้
- SPF 2 สามารถดูดซับรังสี UVB ได้ 50%
- SPF 4 สามารถดูดซับรังสี UVB ได้75%
- SPF 8 สามารถดูดซับรังสี UVB ได้ 87.5%
- SPF 15 สามารถดูดซับรังสี UVB ได้ 93.3%
- SPF 20 สามารถดูดซับรังสี UVB ได้ 95%
- SPF 30 สามารถดูดซับรังสี UVB ได้ 96.7%
- SPF 45 สามารถดูดซับรังสี UVB ได้ 97.8%
- SPF 50 สามารถดูดซับรังสี UVB ได้ 98%
สังเกตว่าเมื่อค่า SPF เพิ่มมากขึ้น ความสามารถในการดูดซับรังสี UVB ก็สูงขึ้นตามไปด้วย แต่ก็ถือว่าน้อยมากหากเทียบกับระดับความเข้มข้นของสาร มากไปกว่านั้นหลังทาครีมกันแดดไปแล้วร่างกายยังต้องเจอกับเหงื่อ ความชื้น น้ำ แสงแดด และสิ่งสกปรกอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากเวลาผ่านไปแล้วคุณสมบัติการป้องกันจะลดลง ดังนั้นนอกจากการเลือกครีมกันแดดให้เหมาะสมกับตนเองหากใครต้องเจอกับแสงแดดเป็นเวลานานก็อาจต้องทาเพิ่มเติมเข้าไป ทั้งนี้ใช่ว่าค่า SPF สูงแล้วจะตอบโจทย์เพราะถ้าคุณผิวบอบบาง แพ้ง่าย ก็อาจก่อให้เกิดความระคายเคือง ดังนั้นอีกวิธีการเลือกครีมกันแดดจึงต้องประเมินผิวตนเองด้วย
ขณะที่ค่า PA หรือ Protection Grade of UVA คือ การบอกระดับการป้องกันผิวจากรังสี UVA มักมีการระบุเป็น +, ++ และ +++ (บางสูตรอาจสูงได้ในระดับ ++++) การใช้ค่านี้ไปอยู่ในผลิตภัณฑ์เริ่มจากสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องสำอางของประเทศญี่ปุ่นได้ระบุไว้ตั้งแต่ปี 2006 ในประเทศไทยจึงอิงค่านี้ตามด้วย ทว่าหากเป็นในแถบยุโรปหรืออเมริกาอาจใช้ค่าตัวอื่นแต่ก็ไม่ได้แตกต่างใด ๆ ซึ่งค่า PA แบ่งออกได้ดังนี้
- PA+ ประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA เริ่มต้น
- PA++ ประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA ปานกลาง
- PA+++ ประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA สูง
- PA++++ ประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA สูงสุด
วิธีในการเลือกครีมกันแดดสำหรับผิวแต่ละประเภท
1. คนผิวมัน
การเลือกครีมกันแดดสำหรับคนผิวมันควรเน้นสูตรที่มีเนื้อครีมแบบบางเบา เพื่อป้องกันไม่ให้ระดับความมันของผิวเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องพิจารณาถึงระดับความเข้มข้นของสารในการป้องกันด้วย เนื่องจากบางยี่ห้อพอเนื้อครีมบางเบาก็ลดปริมาณความเข้มข้นลง ส่งผลให้ไม่ครอบคลุมถึงประสิทธิภาพที่ควรได้รับ นอกจากนี้ยังสามารถเลือกครีมกันแดดคุมมันประเภทสเปรย์หรือเจลเพื่อให้ซึมซาบเข้าสู่ผิวและปกป้องได้อย่างรวดเร็ว แต่ไม่รู้สึกเหนอะหนะ พร้อมช่วยคุมความมันได้ดี
2. คนผิวบอบบาง แพ้ง่าย
สำหรับคนมีผิวบอบบาง แพ้ง่าย อาจคิดว่าไม่ต้องทาก็ได้เพราะอาจก่อให้เกิดการระคายเคือง แต่ความจริงแสงแดดที่สัมผัสกับผิวมีความรุนแรงมากกว่านั้น จึงควรเลือกสูตรที่เหมาะสมกับผิวของตนเอง วิธีการเลือกครีมกันแดดของคนกลุ่มนี้ต้องพิจารณาจากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นปราศจากแอลกอฮอล์ น้ำหอม พาราเบน สารเคมีเติมแต่งอื่น ๆ เพราะถ้ายิ่งทาลงไปก็เท่ากับทำร้ายผิวซ้ำ ควรอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ
3. ครีมกันแดดสำหรับผิวเด็กไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เด็กก็ควรทาครีมกันแดดเพื่อป้องกันอันตรายจากรังสียูวีด้วย เพราะโอกาสที่จะเกิดอาการ “ผิวไหม้แดด” (Sunburn) มีสูงมาก และอาจก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังง่ายกว่าผู้ใหญ่ด้วยซ้ำ ซึ่งการเลือกครีมกันแดดสำหรับเด็กสามารถใช้งานของผู้ใหญ่ได้ตามปกติเลย แต่ถ้าหนูน้อยมีผิวแพ้ง่ายก็ควรเลือกสูตรอ่อนโยน หรือผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กโดยเฉพาะก็ถือว่าดีมาก